Article
บทความให้ความรู้

การนำ Thin Client มาประยุกต์ใช้งานในองค์กร โดย คุณธีระ เอี่ยมศรีตระกูล

การนำ Thin Client มาประยุกต์ใช้งานในองค์กร

 

บทความโดย คุณธีระ เอี่ยมศรีตระกูล
และทีมงานบริษัท เอ็นไอดี โปรเกรส เทคโนโลยี จำกัด

ในปัจจุบัน เราจะเห็นได้ว่า องค์กรต่างๆ ได้เห็นความสำคัญของการนำเอาระบบสารสนเทศ มาประยุกต์ใช้ในเชิงธุรกิจ เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ตั้งแต่งานสำนักงานพื้นฐานเช่น การพิมพ์งาน การทำเอกสารนำเสนอ ในรูปแบบต่างๆ การสืบค้นข้อมูลในรูปแบบต่างๆ ทั้งในรูปแบบของข้อความ รูปภาพ ภาพเคลื่อนไหว หรือเสียง ผ่านเครือข่ายอินเตอร์เน็ต การแบ่งปันข้อมูล และทรัพยากรอื่นๆ ผ่านระบบเครือข่าย ไม่ว่าจะเป็นการ แชร์ไฟล์ แชร์เครื่องพิมพ์ เป็นต้น ซึ่งในหลายหน่วยงานก็มีการนำระบบงานทางสารสาเทศมาประยุกต์ใช้ เช่น ระบบงานทางด้านบัญชี ระบบบริหารจัดการทรัพยากรบุคคล ระบบฐานข้อมูลลูกค้าสัมพันธ์ เป็นต้น

 

ซึ่งที่กล่าวมาทั้งหมดนั้น ต้องใช้คอมพิวเตอร์ ไม่ว่าจะเป็น PC, Notebook, Laptop, Tablet PC หรือแม้กระทั่ง Smart Phone เป็นอุปกรณ์หลักในการประกอบการทำงาน ซึ่งอุปกรณ์ต่างๆเหล่านี้ ล้วนมีค่าเสื่อม หรือตกรุ่นตามกาลเวลาที่เปลี่ยนไป รวมไปถึงการดูแลบำรุงรักษา ซึ่งต้องใช้บุคลากรที่เกี่ยวข้องมาดำเนินการ และต้องใช้เวลาในการที่ทำให้อุปกรณ์ กลับสู่สภาพใช้งานได้ตามปกติ เช่นในองค์กรทั่วไป หากเครื่องคอมพิวเตอร์ของเจ้าหน้าที่ในหน่วยงานติดไวรัสทางคอมพิวเตอร์ เมื่อช่างคอมพิวเตอร์ หรือผู้ดูแลระบบคอมพิวเตอร์ของหน่วยงาน มาทำการซ่อมแซม อย่างน้อย ต้องใช้เวลาถึงครึ่งวัน ถึง 3 วันในการซ่อมแซม หรือคืนสภาพให้คอมพิวเตอร์ที่ได้รับความเสียหาย กลับมาใช้งานได้ตามปกติ จากปัญหาดังกล่าว จึงมีหลายท่าน เริ่มมีแนวความคิดที่จะเอาหลักการทำงานของ Thin Client มาประยุกต์ใช้ในการดำเนินธุรกิจ เพื่อลดต้นทุนการดำเนินธุรกิจ ทั้งในส่วนของอุปกรณ์ เวลาที่สูญเสียจากคอมพิวเตอร์ใช้งานไม่ได้ และ การบำรุงรักษาที่ไม่ต้องการเจ้าหน้าที่มีความรู้และทักษะมากนัก

 

ดังนั้น เพื่อให้ผู้อ่านเกิดความเข้าใจในหลักการ ของการนำระบบ Thin Client มาประยุกต์ใช้ให้ได้ดียิ่งขึ้นผู้เขียนจึงขออธิบายความเป็นมาของ Thin Client ดังนี้ ระบบ Thin Client เกิดขึ้นมาพร้อมยุคคอมพิวเตอร์ Main Frame ซึ่งสมัยนั้น คอมพิวเตอร์มีราคาสูงมาก เมื่อเทียบกับประสิทธิภาพที่ได้รับ จนมีหลายท่านมีคำเปรียบเทียบว่า เอาคอมพิวเตอร์จากต่างชาติมา 1 เครื่อง ต้องเอาข้าวสารไปแลก 1 ลำเรือสำเภาดังนั้นการจะใช้งานคอมพิวเตอร์ ในหน่วยงานในสมัยก่อน จึงต้องสลับกันใช้งานคอมพิวเตอร์ เพื่อนำข้อมูลของตนเองมาให้คอมพิวเตอร์ช่วยในการประมวลผล หรือคำนวนหาผลลัพธ์ให้ ซึ่งส่งผลให้การทำงานเป็นไปด้วยความล่าช้า และไม่สะดวกในการใช้งาน

 

ต่อมาจึงมีแนวความคิดที่จะนำคอมพิวเตอร์ที่ลงทุนไป สามารถนำมาใช้งานได้หลายๆผู้ใช้งานพร้อมๆ กัน โดยที่สร้างอุปกรณ์ขึ้นมาชุดหนึ่ง หลายๆ ท่านก็จะเรียกการทำงานของคอมพิวเตอร์ประเภทนี้ว่า Thin Client หรือ Dumb Terminal มีหน้าจอมอนิเตอร์ มีแป้นพิมพ์ และมีอุปกรณ์ชนิดหนึ่งต่อพ่วง ต่อผ่านเครือข่าย เพื่อทำหน้าที่สื่อสารระหว่างชุดอุปกรณ์เครื่องลูกข่าย กับ เครื่องแม่ข่าย โดยที่ตัวอุปกรณ์เองนั้น ไม่ได้ประมวลผลใดๆทั้งสิ้น มีหน้าที่เพียงแสดงผลผ่านจอมอนิเตอร์ และ รับข้อมูลผ่านแป้นพิมพ์ เพื่อส่งคำสั่งไปให้เครื่องแม่ข่ายประมวลผลเท่านั้น ซึ่งทำให้ค่าใช้จ่ายในการจัดทำระบบลดลงไปมาก

และเมื่อยุคสมัยเปลี่ยนไป อุปกรณ์ต่างๆ เริ่มมีราคาถูกลง เมื่อเทียบกับประสิทธิภาพที่ได้รับ ดังนั้น Thin Client จึงได้ลดความนิยมลง และก้าวเข้าสู่ยุคทองของคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล (PC) ซึ่งเมื่อเวลาผ่านไป จนกระทั่งถึงทุกวันนี้ คอมพิวเตอร์ที่ใช้งานก็ยังมีแนวโน้มที่ราคาจะถูกไปเรื่อยๆ เมื่อเทียบกับ ประสิทธิภาพที่ได้รับ และเมื่อมองกลับไปที่มิติความคุ้มค่าในการนำคอมพิวเตอร์ไปใช้งานนั้น กลับพบว่า ผู้ใช้งานส่วนใหญ่ ใช้ประสิทธิภาพของหน่วยประมวลผลกลาง (CPU) และ หน่วยความจำหลัก (RAM) ไม่ถึง 30 – 40% ของประสิทธิภาพการทำงานรวม ซึ่งระบบงานสำหรับองค์กรส่วนใหญ่ ก็จะใช้การประมวลผลผ่านเครื่องแม่ข่าย ไม่ว่าจะเป็นระบบงานที่เป็นแบบ Web Application หรือ Client Server ที่ต้องลงโปรแกรมระบบงานไว้ที่เครื่องลูกข่าย เช่นระบบ SAP เป็นต้น ดังนั้น การใช้งานทั่วไปก็จะเป็นเรื่องของเอกสารสำนักงาน โปรแกรมตารางคำนวน เอกสารนำเสนอ การใช้งานอินเตอร์เน็ต ส่วนผู้ใช้งานที่ต้องการคอมพิวเตอร์ที่มีประสิทธิภาพในการใช้งานสูง อย่างเช่น นักออกแบบภาพ งานตัดต่อภาพเสียง สื่อผสม การคำนวนข้อมูลเชิงสถิติ รวมไปถึงเครื่องที่ต้องการใช้โปรแกรมเกมส์ประเภท 3 มิติ การสร้างข้อมูลแผนที่ภูมิศาสตร์ สารสนเทศ (GIS) การสร้างแบบจำลอง การเขียนแบบ 3 มิติ นั้นก็จะเป็นเจ้าหน้าที่ส่วนน้อยสำหรับองค์กรทั่วไป

 

ในมุมมองของนักลงทุน หรือเจ้าของกิจการ หากลดค่าใช้จ่ายในส่วนนี้ไปได้อย่างมีนัยสำคัญ ก็จะส่งผลให้ ก่อให้เกิดกำไรเพิ่มขึ้นตามไปด้วย ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบ กับงานจัดซื้อคอมพิวเตอร์ทั่วไป จำนวน 8 ชุด (เครื่องคอมพิวเตอร์ พร้อมจอมอนิเตอร์ เมาส์ คีย์บอร์ด) ราคารวมประมาณ 150,000 บาท แต่หากเป็นระบบ Thin Client ราคารวมจะอยู่ที่ประมาณ 65,000 บาท ซึ่งทำให้ต้นทุนลดลงไปประมาณร้อยละ 54 ของต้นทุนการจัดซื้อรวม และถ้าจัดซื้อในปริมาณที่เพิ่มขึ้นเป็น 30 เครื่อง Thin Client จะสามารถลดต้นทุนไปได้ถึงร้อยละ 65 เมื่อเปรียบเทียบกับการจัดซื้อคอมพิวเตอร์ทั่วไป

หมายเหตุ ราคาประมาณการนี้ยังไม่รวมค่าใช้จ่ายในส่วนของ ระบบปฏิบัติการ Windows

 

ในมุมมองของผู้ดูแลระบบ การนำ Thin Client มาประยุกต์ใช้ ก็จะทำให้ต้นทุน และระยะเวลาในการบำรุงรักษาลดลงด้วย กล่าวคือ หาก อุปกรณ์ Thin Client ชำรุด เจ้าหน้าที่ก็เพียงแต่ทำการเปลี่ยนอุปกรณ์ Thin Client และตั้งค่าใช้งานอีกไม่เกิน 5 นาที เจ้าหน้าที่ก็สามารถปฏิบัติงานต่อได้ตามปกติ และข้อมูลขององค์กร ก็ไม่สูญหาย และมีความปลอดภัยของข้อมูลมากกว่า เมื่อเปรียบเทียบกับการเก็บข้อมูลไว้ที่เครื่อง PC ทั่วไป

 

ตัวอย่างกลุ่มธุรกิจ กลุ่มประเภทการใช้งาน ที่เหมาะสมในการนำเอา Thin Client ไปประยุกต์ใช้งาน

  1. กลุ่มธุรกิจ โรงแรม ห้องพัก ที่ให้บริการคอมพิวเตอร์ และอินเตอร์เน็ต
  2. กลุ่มสถาบันการศึกษา ทั้งในส่วนของ Computer ห้องปฏิบัติการ ที่ใช้โปรแกรมพื้นฐานทั่วไป และระบบงานภายในของสถาบัน
  3. องค์กร ราชการ รัฐวิสาหกิจ เอกชน ที่มีเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานจำนวนมาก
  4. กลุ่มธุรกิจ สถานพยาบาล และความสวยความงาม
  5. การจัดกิจกรรมลงทะเบียน และสัมมนาต่างๆ
  6. ระบบงานที่ใช้งานผ่านเครื่องแม่ข่ายต่างๆ
  7. ระบบงานภายในองค์กร ที่ไม่มีความจำเป็นต้องย้ายคอมพิวเตอร์ออกไปทำนอกสำนักงาน หรือบันทึกข้อมูลลงเครื่องส่วนตัวปริมาณมาก เช่นแผนกบัญชี แผนกบุคคล เจ้าหน้าที่เลขานุการ เป็นต้น
  8. บริษัทที่มีสาขาจำนวนมาก แต่มีจำนวนบุคลากรทางด้านคอมพิวเตอร์ไม่เพียงพอต่อการดำเนินงาน
  9. ธุรกิจที่ต้องมีการรักษาความลับของข้อมูล
  10. คอมพิวเตอร์ที่อยู่ในสายการผลิตโรงงาน

 

ประเภทของ Thin Client

หากเรานำเอาอุปกรณ์ Thin Client ที่มีอยู่มาจำแนก ตามลักษณะการใช้งาน เราจะสามารถแยกประเภท Thin Client ได้ออกมาเป็น 2 ชนิด คือ

1. Stand Alone Thin Client

Stand Alone Thin Client หรือหลายท่านเรียกว่า Thin Client แบบฉลาดนั้น จะเป็น Thin Client ที่สามารถใช้งานได้เหมือนคอมพิวเตอร์ทั่วไป โดยไม่จำเป็นต้องติดต่อกับเครื่องแม่ข่าย Thin Server แต่ประสิทธิภาพจะด้อยกว่า การใช้งานผ่านคอมพิวเตอร์ทั่วไป ซึ่งแล้วแต่คุณสมบัติทางด้านฮาร์ดแวร์ของอุปกรณ์ ซึ่งระบบปฏิบัติการหลักของอุปกรณ์ Thin Client ส่วนใหญ่ จะพัฒนามาจากระบบปฏิบัติการ Linux จึงทำให้องค์กรสามารถลดค่าใช้จ่ายทางด้านลิขสิทธิ์ของซอฟต์แวร์ ได้เป็นอย่างดี และสามารถติดต่อกับ Thin Server ได้หลากหลายผู้ผลิตอีกด้วย

2. Network Thin Client

Network Thin Client หรือหลายท่านเรียกว่า Thin Client แบบไม่ฉลาด นั้น จะเป็น Thin Client ที่ต้องใช้งานผ่านเครื่อง Thin Server เท่านั้น หากปิดเครื่อง Thin Server อุปกรณ์ก็จะไม่สามารถใช้งานได้เลย

ข้อควรคำนึงถึงในการเลือกซื้ออุปกรณ์

  1. ประสิทธิภาพของตัวอุปกรณ์ (CPU, RAM, Portable,)
  2. คุณภาพการแสดงผลของสัญญาณภาพ และรูปแบบที่เชื่อมต่อได้ เช่น VGA, DVI,HDMI, RCA Analog เป็นต้น
  3. การบริการหลังการขาย การให้คำปรึกษา และบริการให้ข้อมูลทางเทคนิค กรณีมีข้อสงสัย หรือเกิดปัญหา
  4. การออกแบบระบบงานเพื่อให้สอดคล้อง กับธุรกิจ เพื่อความคุ้มค่า และการนำอุปกรณ์ไปใช้ได้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อองค์กร