Article
บทความให้ความรู้

5 วิธีการง่ายๆ ในการเริ่มต้นวางแผนธุรกิจ

กิจกรรมทุกสิ่งบนโลกนี้สามารถประสบความสำเร็จเป็นที่น่าพอใจได้ก็ต่อเมื่อมีการวางแผนวิธีปฏิบัติงานอันยอดเยี่ยมและดีพร้อม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการทำธุรกิจ การวางแผนยิ่งจะทวีค่าและมีบทบาทมากยิ่งขึ้น การวางแผนธุรกิจจึงเป็นสิ่งสำคัญที่ผู้ประกอบการควรให้ความสำคัญมากเป็นพิเศษ โดยเฉพาะกับการเริ่มต้นธุรกิจใหม่ คุณทิม เบอร์รี่ (Tim Berry) ประธานบริษัท  Palo Alto Software Inc. และเป็นผู้เชี่ยวชาญการวางแผนธุรกิจ ได้แนะนำวิธีการวางแผนที่เรียบง่ายแต่เข้าถึงแก่นแท้ของธุรกิจไว้ 5 ขั้นตอน

1.การวิเคราะห์ศักยภาพ(SWOT)

เป็นขั้นตอนที่ผู้ประกอบการต้องดำเนินการเป็นอันดับแรกเื่พื่อวิเคราะห์ข้อมูลเรื่องต่างๆ ที่เกี่ยวกับธุรกิจที่จะทำ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของจุดเด่น (S = Strengths) จุดด้อย (W = Weaknesses) โอกาส (O = Opportunities) และอุปสรรค (T = Threats) ซึ่งการวิเคราะห์ข้อมูลในทั้ง 4 เรื่องจะช่วยให้ผู้ประกอบการทราบข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับรายละเอียดของธุรกิจที่แท้จริง อันจะนำมากำหนดกรอบและวางแผนทางธุรกิจให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ซึ่งการวางแผนควรเป็นการประชุมแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างกันและระดมสมองตัดสินใจเพื่อให้ได้กรอบนโยบายและแผนการที่ดีที่สุดนั่นเอง

2.นำแผนที่ได้ไปลงลึกในรายละเอียดขั้นปฏิบัติ

หลังจากกำหนดแผนธุรกิจจากข้อมูลที่วิเคราะห์แล้ว ขั้นต่อมาก็คือการนำแผนที่ได้มาลงรายละเอียดขั้นปฎิบัติเพื่อนำไปใช้จริงเมื่อปล่อยสินค้าและบริการเข้าสู่ตลาด ไม่ว่าจะเป็นการวางแผนเรื่องการตลาด การแบ่งกลุ่มลูกค้า ราคา การโฆษณา กลยุทธ์ธุรกิจ บรรจุภัณฑ์ ช่องทางการจัดจำหน่าย การส่งสินค้าแบบเร่งด่วน สถานที่จำหน่าย ฯลฯ ซึ่งขั้นตอนเหล่านี้ต้องสอดรับกับการวิเคราะห์ศักยภาพตามขั้นตอนแรกเป็นอย่างดีด้วย

3.ออกงานพบปะกับลูกค้าคู่ธุรกิจ

การทำธุรกิจในปัจจุบันไม่ได้เรียบง่ายเหมือนอย่างเช่นในอดีตที่แค่นำสินค้าออกมาวางขายก็จบ เพราะมีปัจจัยหลายๆ อย่างเข้ามาเกี่ยวข้องและส่งผลกระทบด้วย โดยเฉพาะเรื่องเครือข่ายธุรกิจ ซึ่งธุรกิจที่เกิดใหม่จะเดินไปข้างหน้าไม่ได้เลยหากขาดเครือข่ายลูกค้าและคู่ธุรกิจที่จะมารองรับการดำเนินงานในอนาคต ดังนั้นผู้ประกอบการจึงต้องมีแผนเดินสายพบปะเครือข่ายเหล่านั้นให้มากยิ่งขึ้นเพื่อเชื่อมสัมพันธภาพระหว่างกัน การพบปะพูดคุยกันแต่ละครั้งนั้นควรแสดงออกถึงความจริงใจและพูดคุยในเรื่องที่มีจุดยืนร่วมกัน เพื่อตรวจสอบดูว่าใครคือผู้ที่สามารถสนับสนุนและให้การช่วยเหลือได้จริงๆ

4.เข้าใจลูกค้าอย่างแท้จริง

การจะขายสินค้าหรือบริการให้ประสบความสำเร็จ ผู้ประกอบการต้องเข้าใจความคิดความต้องการของลูกค้าอย่างแท้จริง ว่าสำหรับพวกเขาแล้วสิ่งไหนคือสิ่งที่ใช่หรือไม่ใช่ ขั้นตอนนี้เราต้องลงลึกถึงรายละเอียดปลีกย่อยส่วนบุคคลหรือที่เรียกว่าไลฟ์สไตล์เลยทีเดียว ไม่ว่าจะเป็นเรื่องลักษณะการใช้ชีวิตประจำวัน งานอดิเรก อาชีพ อายุ รายได้ การทำงาน โทรทัศน์รายการโปรด เว็บไซต์ที่ชอบ หนังสือที่อ่าน เพลงที่ฟัง ฯลฯ ซึ่งข้อมูลส่วนบุคคลที่ได้มาเหล่านี้จะช่วยทำให้ผู้ประกอบการเอาชนะใจลูกค้าได้ง่ายขึ้น ทั้งยังเป็นส่วนที่ทำให้เราเหนือกว่าคู่แข่งอีกด้วย

5.มองภาพรวมไปยังอนาคตที่ดีกว่า

วิสัยทัศน์คือสิ่งหนึ่งที่ผู้ประกอบการทุกคนจำเป็นต้องมี ผู้ประกอบการต้องรู้ตัวเองว่าอีก 3 – 4 ปีข้างหน้าธุรกิจจะมีแผนเดินไปในทิศทางใด ซึ่งอนาคตของธุรกิจเป็นสิ่งที่ผู้ประกอบการสามารถสร้างสรรค์และกำหนดขึ้นมาเองได้ไม่ใช่เรื่องของโชคชะตาแต่อย่างใด ดังนั้นการมีเป้าหมายและวางแผนธุรกิจเพื่อการเติบโตจึงเป็นหนึ่งโครงสร้างสำคัญของการวางแผนทางธุรกิจ

 

การวางแผนถือเป็นสิ่งทรงคุณค่ามากในการทำธุรกิจ คืออิสระทางความคิดที่ผู้ประกอบการมีติดตัว ดังนั้นเมื่อมีโอกาสจงวาดฝันและวางแผนธุรกิจให้ดีที่สุด อย่าไปกังวลว่าจินตนาการของเราจะเกินตัวหรือไกลเกินเอื้อม เพราะธุรกิจที่ประสบความสำเร็จในปัจจุบันก็ต่างล้วนมาจากแผนธุรกิจซึ่งสร้างมาจากความฝันและจินตนาการด้วยกันทั้งนั้น ดังนั้นการเดินตามความฝันด้วยแผนธุรกิจจึงเป็นสิ่งที่ผู้ประกอบการทุกคนสมควรต้องทำในยามที่แข่งขันกันสูงอย่างเช่นในปัจจุบันนี้